นิติกรรมที่เจ้าหนี้สามารถเพิกถอนนิติกรรมได้นั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แล้วคำว่า เสียเปรียบนั้น หมายความว่าอย่างไร ซึ่งขออธิบายว่า คำว่าเสียเปรียบจะต้องเป็นกรณีที่ทำให้ ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้
ตามประเด็นดังกล่าวนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น กำหนดให้นิติกรรมที่เจ้าหนี้สามารถเพิกถอนได้นั้น มีจำแนกออกเป็น ๒ จำพวก คือ นิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบโดยมีค่าตอบแทน และนิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบโดยไม่มีค่าตอบแทน โดยมีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน ซึ่งที่นิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบและมีค่าตอบแทนนั้น การที่จะเพิกถอนได้จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่า ลูกหนี้รู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบและต้องพิสูจน์ว่า บุคคลภายนอกรู้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงจะสามารถเพิกถอนนิติกรรมได้ ส่วนนิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบโดยไม่มีค่าตอบแทน เพียงแต่พิสูจน์ให้ได้ความว่า ลูกหนี้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องพิสูจน์ถึงว่า บุคคลภายนอกรู้ว่าการทำนิติกรรมกับลูกหนี้นั้น ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ |